กลอย คืออะไร

กลอย

ชื่ออื่น: มันกลอย กลอยข้าวเหนียว กลอยหัวเหนียว(นครราชสีมา) กลอยนก(เหนือ) กลอยไข่(ตะวันออกเฉียงเหนือ) มีเรียกชื่อต่างกันไปตามแต่ละท้องที่           
ชื่อวิทยาศาสตร์: Dioscorea hispida Dennst.            

ชื่อวงศ์: Dioscoreaceae

กลอย
เป็นไม้เถาล้มลุก มีหัวฝังอยู่ใต้ดินหรือที่เรียกว่า “หัวกลอย” เป็นส่วนที่ชาวบ้านนำมารับประทาน หรือนำมาทำประโยชน์ด้านอื่น โดยหัวกลอยนั้นฝังลึกลงไปประมาณ 10-15 เซนติเมตร ก็ถือว่าไม่ลึกมากเท่าไหร่ลำต้นกลมมีหนามเล็กๆ กระจายทั่วไป และมีขนนุ่มๆ สีขาวปกคลุม



ในต้นกลอยหนึ่งต้นจะมีหัวกลอย 3-5 หัวต่อต้น ลักษณะหัวกลมๆ รีๆ มีทั้งหัวเล็ก หัวใหญ่ เปลือกหัวบางสีน้ำตาลออกเหลือง เนื้อในหัวมี 2 ชนิดคือ สีขาว (กลอยหัวเหนียว) และสีครีม (กลอยไข่ กลอยเหลืองหรือกลอยข้าวเจ้า)


ใบประกอบ เรียงตัวแบบเกลียว ผิวใบสากมือ มีขนปกคลุม มีใบย่อย 3 ใบ ใบกลางแผ่นใบรูปรีแกมขอบขนาน กว้าง 6-15 เซนติเมตร ยาว 8-25 เซนติเมตร ปลายเรียวแหลม โคนแหลม ขอบใบเรียบ เส้นใบนูน ใบย่อย 2 ใบ แผ่นใบรูปไข่ รูปไข่กลับ ขนาดสั้นกว่าใบกลางแต่กว้างกว่า ปลายแหลม โคนกลม เส้นใบออกจากจุดเดียวกัน ก้านใบยาว 10-15 เซนติเมตร 
ดอกช่อ แบบแยกแขนง แยกเพศอยู่คนละต้น ดอกย่อยมีขนาดเล็ก จำนวน 30-50 ดอกสีเขียว ออกตามซอกใบ ห้อยลง ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อแยกแขนง 2-3 ชั้น ดอกตั้งขึ้น ยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร เกสรเพศผู้จำนวน 6 อัน ดอกเพศเมียออกเป็นช่อชั้นเดียว ดอกชี้ลงดิน กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง ผลแก่แตกได้ มีสีน้ำผึ้ง มีครีบ 3 ครีบ กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ยาว 5.5 เซนติเมตร แต่ละครีบมี 1 เมล็ด ผิวเกลี้ยง เมล็ดกลมแบน มีปีกบางใสรอบเมล็ด 


พบตามที่ลุ่มต่ำ ที่รกร้างทั่วไป ป่าเต็งรัง ป่าผสม และป่าดงดิบ ออกดอกช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน หัวกลอยให้แป้งมาก แต่มีสารไดออสคอรีน ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ ทำให้เมา คันคอ อาเจียน เหงื่อออก ตาพร่า ใจสั่น วิงเวียน ต้องนำมาทำให้หมดพิษ โดยปอกเปลือกทิ้ง แล้วหั่นเป็นแผ่นบางๆ ใส่ชะลอมหรือตะกร้าแล้วนำไปแช่ทิ้งไว้ให้น้ำไหลผ่าน เช่นน้ำทะเล น้ำตก น้ำห้วย สัก 2-3 วัน ล้างให้สะอาด จึงจะรับประทานได้ 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก: phargarden.com





ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม